อาทิตย์, มิถุนายน 04, 2023
   
Text Size

My Blog

A short description about your blog

นีล อาร์มสตรอง

โพสต์โดย: prakrupit

ติดแท็กใน: ไม่ติดแท็ก 

prakrupit


นีล ออลเดน อาร์มสตรอง(อังกฤษ: Neil Alden Armstrong; 5 สิงหาคม พ.ศ. 2473 — 25 สิงหาคม พ.ศ. 2555) เป็นนักบินอวกาศชาวอเมริกัน และเป็นมนุษย์ที่ได้ชื่อว่าเหยียบพื้นผิวดวงจันทร์คนแรกของโลก

อาร์มสตรองเกิดที่รัฐโอไฮโอ จบการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยเซาเทิร์นแคลิฟอร์เนีย และเป็นนักบินทดสอบให้กับองค์การนาซามาก่อน เขาได้รับคัดเลือกเป็นนักบินอวกาศเมื่อปี พ.ศ. 2505 (ค.ศ. 1962) และปฏิบัติภารกิจหลายภารกิจในโครงการเจมินีและโครงการอะพอลโล

พ.ศ. 2512 (ค.ศ. 1969) เขาเป็นผู้บัญชาการของโครงการโครงการอะพอลโล 11 ซึ่งมีเป้าหมายนำยานไปจอดบนดวงจันทร์ โดยสมาชิกในทีมคือ เอ็ดวิน อัลดริน และไมเคิล คอลลินส์


อุปราคาและดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555

โพสต์โดย: prakrupit

ติดแท็กใน: ไม่ติดแท็ก 

prakrupit

 

 

เมื่อเกิดอุปราคาขึ้นครั้งใด อีกราว 6,585.32 วัน (18 ปี กับ 10 หรือ 11 วัน) ถัดไปหรือก่อนหน้านั้น จะมีโอกาสเกิดอุปราคาขึ้นด้วย เรียกคาบเวลานี้ว่าซารอส (Saros) ถูกแบ่งออกเป็นชุด (series) ต่าง ๆ กำหนดลำดับชุดด้วยตัวเลข

นอกจากสุริยุปราคาซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์แล้ว ปีนี้ยังจะมีปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนมาบังบางส่วนของดวงอาทิตย์ด้วย เรียกว่าดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ ต่อไปนี้เป็นรายละเอียดของอุปราคาทั้ง 4 ครั้ง และดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ที่จะเกิดขึ้นในปี 2555

1. สุริยุปราคาวงแหวน 21 พฤษภาคม 2555

อุปราคาครั้งแรกของปีเกิดขึ้นในเช้าวันจันทร์ที่ 21 พฤษภาคม 2555 ตามเวลาประเทศไทย ดวงจันทร์เพิ่งจะผ่านตำแหน่งไกลโลกที่สุดเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม วันนี้ดวงจันทร์จึงอยู่ห่างโลกจนมีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ เกิดเป็นสุริยุปราคาวงแหวน เส้นทางคราสวงแหวนผ่านจีน ญี่ปุ่น ทางเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และสหรัฐอเมริกา

สุริยุปราคาเริ่มขึ้นเมื่อเงามัวแตะผิวโลกในเวลา 03:56 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นเวลา 05:06 น. เงาคราสวงแหวนเริ่มสัมผัสผิวโลกในอ่าวตังเกี๋ย ความกว้างของเงาอยู่ที่ 324 กิโลเมตร โดยเคลื่อนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนืออย่างรวดเร็ว ผ่านพื้นที่บางส่วนของเขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง รวมทั้งมณฑลที่อยู่ทางด้านตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ได้แก่ เจียงซี กว่างตง ฝูเจี้ยน และเจ้อเจียง พื้นที่เล็ก ๆ ตรงชายฝั่งทางเหนือของเกาะไห่หนานมีโอกาสเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเป็นเวลาสั้น ๆ ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น

เมืองกว่างโจวในมณฑลกว่างตงอยู่ใกล้เส้นกลางคราส เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 26 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 5° เขตบริหารพิเศษฮ่องกงอยู่ห่างไปทางใต้ แต่ยังอยู่ในเขตสุริยุปราคาวงแหวน เกาะฮ่องกงเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 3 นาทีครึ่ง เมืองฝูโจวในมณฑลฝูเจี้ยนเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 15 วินาที มุมเงย 12° ขอบเขตด้านทิศเหนือลากผ่านพื้นที่ทางใต้ของมณฑลเจ้อเจียง

เงาคราสวงแหวนปกคลุมตอนเหนือของช่องแคบไต้หวัน ก่อนเคลื่อนเข้าสู่ทะเลจีนตะวันออก ขอบเขตด้านทิศใต้ของแนวสุริยุปราคาวงแหวนผ่านตอนเหนือของเกาะไต้หวัน เมืองไทเปเกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 1 นาที 53 วินาที มุมเงย 13°

หลังจากผ่านทะเลจีนตะวันออก เงาคราสวงแหวนแตะแผ่นดินอีกครั้งที่ประเทศญี่ปุ่น โดยผ่านเกาะเล็ก ๆ และพื้นที่บางส่วนของภูมิภาคต่าง ๆ ได้แก่ คีวชู ชิโกะกุ คันไซ จูบุ คันโต และโทโฮะกุ เมืองโอซะกะอยู่ในเส้นทางคราสวงแหวน แต่ใกล้ขอบเขตด้านทิศเหนือ เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 2 นาที 52 วินาที มุมเงย 31° นะโงะยะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 3 นาที 40 วินาที มุมเงย 32° โตเกียวอยู่ใกล้เส้นกลางคราส เห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 5 นาที 4 วินาที มุมเงย 35°

หลังจากผ่านญี่ปุ่น แนวคราสวงแหวนลากผ่านพื้นที่กว้างใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก กึ่งกลางคราสซึ่งเห็นสุริยุปราคาวงแหวนเกือบนานที่สุด อยู่ทางตอนเหนือของมหาสมุทร นาน 5 นาที 46 วินาที เกิดขึ้นเวลา 06:53:46 น. ที่นั่นเงาคราสวงแหวนกว้าง 237 กิโลเมตร จากนั้นข้ามเส้นแบ่งวันตรงลองจิจูด 180° ในเวลา 07:00 น. แล้วมุ่งหน้าไปแตะชายฝั่งบริเวณพรมแดนระหว่างรัฐแคลิฟอร์เนียกับออริกอน ซึ่งอยู่ทางด้านตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกาในเวลาประมาณ 08:23 น.

เงาคราสวงแหวนผ่านพื้นที่บางส่วนของหลายรัฐในอเมริกันเวสต์ ได้แก่ ออริกอน แคลิฟอร์เนีย เนวาดา ยูทาห์ แอริโซนา โคโลราโด นิวเม็กซิโก และเทกซัส ขณะนั้นเป็นช่วงเย็นของวันที่ 20 พฤษภาคม ตามเวลาท้องถิ่น ขณะแตะชายฝั่งของสหรัฐอเมริกา ผู้ที่อยู่ตรงแนวเส้นกลางคราสจะเห็นสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 48 วินาที มุมเงย 22° เงาคราสวงแหวนเคลื่อนไปทางทิศตะวันออก พาดผ่านเทือกเขาและที่ราบสูงด้านตะวันตกของสหรัฐอเมริกา ลาสเวกัสในรัฐเนวาดาอยู่ห่างไปทางทิศใต้ นอกแนวคราสวงแหวน

เมืองเซนต์จอร์จ รัฐยูทาห์ เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 12 วินาที มุมเงย 11° เมืองอัลบาเคอร์คี เมืองใหญ่ที่สุดของรัฐนิวเม็กซิโก อยู่ใกล้แนวกลางคราส เกิดสุริยุปราคาวงแหวนนาน 4 นาที 26 วินาที มุมเงย 5° เงาคราสวงแหวนหลุดออกจากผิวโลกในเวลา 08:39 น. บริเวณรัฐเทกซัส หลังจากนั้น ปรากฏการณ์จะสิ้นสุดเมื่อเงามัวหลุดออกจากผิวโลกในเวลา 09:49 น.

พื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาบางส่วนขณะดวงอาทิตย์ขึ้น ภาคกลางเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเล็กน้อย และสิ้นสุดปรากฏการณ์ไปไม่นานหลังดวงอาทิตย์ขึ้น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากที่สุดและนานกว่าภาคอื่น ๆ

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนครั้งนี้คือส่วนใหญ่ของทวีปเอเชีย ตอนเหนือของมหาสมุทรแปซิฟิก และส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ สุริยุปราคาดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ขึ้นเมื่อสังเกตจากเอเชีย และดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ตกเมื่อสังเกตจากหลายรัฐในสหรัฐอเมริกา

สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดโหนดลงในวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 58 ใน 73 ครั้งของซารอสที่ 128 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 984 สิ้นสุดในวันที่ 1 พฤศจิกายน ค.ศ. 2282 ซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 24 ครั้ง เต็มดวง 4 ครั้ง ผสม 4 ครั้ง วงแหวน 32 ครั้ง และบางส่วน 9 ครั้ง ตามลำดับ ชุดซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ สิ้นสุดบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 1 นาที 45 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ค.ศ. 1453 สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดคือ 8 นาที 35 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1832

2. จันทรุปราคาบางส่วน 4 มิถุนายน 2555

จันทรุปราคาบางส่วนครั้งนี้เกิดขึ้นในช่วงหัวค่ำของวันจันทร์ที่ 4 มิถุนายน 2555 ซึ่งตรงกับวันวิสาขบูชา ดวงจันทร์เริ่มแหว่งเวลา 17:00 น. และถูกเงาของโลกบังลึกที่สุดเวลา 18:03 น. คิดเป็นขนาดความลึก 37% ของเส้นผ่านศูนย์กลางดวงจันทร์ สองเวลานี้ประเทศไทยยังไม่เห็น เนื่องจากดวงจันทร์ยังไม่ขึ้น และเป็นเวลากลางวัน

จันทรุปราคาบางส่วน 17 สิงหาคม 2551 (ภาพ – ศิรวิศ สุรพฤกษ์)

ดวงจันทร์จะขึ้นมาเหนือขอบฟ้าทิศตะวันออกในช่วงครึ่งหลังของปรากฏการณ์ กรุงเทพฯ ดวงจันทร์ขึ้นเวลา 18:41 น. ถูกเงามืดของโลกบังอยู่ราว 20% จากนั้นกลับมาสว่างเต็มดวงเวลา 19:07 น. ดวงจันทร์อยู่สูงเหนือขอบฟ้าเป็นมุมเพียง 5° และท้องฟ้ายังไม่มืด จึงมีเวลาสังเกตจันทรุปราคาขณะถูกเงามืดบังได้ไม่ถึงครึ่งชั่วโมง และอาจสังเกตได้ยาก เนื่องจากอยู่ต่ำใกล้ขอบฟ้า ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเวลาสังเกตได้นานกว่า เนื่องจากดวงจันทร์ขึ้นก่อนกรุงเทพฯ เช่น ที่อุบลราชธานี ดวงจันทร์ขึ้นตั้งแต่เวลา 18:25 น.

พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้พร้อมประเทศไทยคือส่วนใหญ่ของ ทวีปเอเชีย ด้านตะวันออกของมหาสมุทรอินเดีย ออสเตรเลีย มหาสมุทรแปซิฟิก ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือและใต้ (ยกเว้นด้านตะวันออก) และทวีปแอนตาร์กติกา ผู้ที่อยู่ในทวีปเอเชียและออสเตรเลียจะเกิดจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์เคลื่อน สูงขึ้นในค่ำวันที่ 4 มิถุนายน ส่วนอเมริกาเหนือและอเมริกาใต้เกิดจันทรุปราคาขณะดวงจันทร์เคลื่อนต่ำลงใน เวลาเช้ามืดของวันเดียวกัน ตามเวลาท้องถิ่น

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 4 มิถุนายน 2555

  1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก15:48:08 น.
  2. เริ่มเกิดจันทรุปราคาบางส่วน16:59:51 น.
  3. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 18:03:12 น.
  4. สิ้นสุดจันทรุปราคาบางส่วน19:06:30 น.
  5. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 20:18:16 น.

จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดโหนดขึ้นในวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เมื่อสังเกตจากประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาวคนแบกงู ห่างดาวแอนทาเรสในกลุ่มดาวแมงป่องประมาณ 8° เป็นจันทรุปราคาครั้งที่ 24 ใน 77 ครั้ง ของซารอสที่ 140 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1597 - 2968 ซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 20 ครั้ง บางส่วน 8 ครั้ง เต็มดวง 28 ครั้ง บางส่วน 7 ครั้ง และเงามัว 14 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 25 ตุลาคม ค.ศ. 2246 และ 4 พฤศจิกายน ค.ศ. 2264 นาน 1 ชั่วโมง 38.6 นาที

3. สุริยุปราคาเต็มดวง 14 พฤศจิกายน 2555

สุริยุปราคาเต็มดวงในเช้าวันพุธที่ 14 พฤศจิกายน 2555 เกิดขึ้นในช่วงเวลาก่อนที่ดวงจันทร์จะใกล้โลกที่สุดประมาณ 12 ชั่วโมง ดวงจันทร์จึงอยู่ใกล้จนสามารถบดบังดวงอาทิตย์ได้มิดทั้งดวง เส้นทางคราสเต็มดวงผ่านออสเตรเลียและมหาสมุทรแปซิฟิก

สุริยุปราคาครั้งนี้เริ่มขึ้นเมื่อเงามัวของดวงจันทร์แตะผิวโลกในเวลา 02:38 น. ตามเวลาประเทศไทย จากนั้นสุริยุปราคาเต็มดวงเริ่มเมื่อเงามืดแตะผิวโลกบนแผ่นดินทางตอนเหนือ ของรัฐนอร์เทิร์นเทริทอรีในเวลา 03:35 น. จุดนั้นอยู่ห่างจากเมืองดาร์วินไปทางทิศตะวันออกประมาณ 250 กิโลเมตร หากท้องฟ้าโปร่งจะสามารถเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงขณะดวงอาทิตย์ขึ้น นาน 1 นาที 41 วินาที

เงามืดเคลื่อนตัวไปทางตะวันออก พาดผ่านอ่าวคาร์เพนแทเรีย แตะแผ่นดินอีกครั้งบนคาบสมุทรเคปยอร์ก ทางตอนเหนือของรัฐควีนส์แลนด์ แล้วลงสู่ทะเลคอรัลในมหาสมุทรแปซิฟิก ชายฝั่งตะวันออกที่หันหน้าออกสู่ทะเล เป็นบริเวณที่มีโอกาสเห็นสุริยุปราคาเต็มดวงได้ดีที่สุดบริเวณหนึ่งของ ออสเตรเลีย เนื่องจากดวงอาทิตย์จะขึ้นมาเหนือขอบฟ้าทางทิศนี้ บริเวณดังกล่าวมีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เมืองเคร์นส์ ซึ่งมีประชากรประมาณ 151,000 คน เป็นเมืองใหญ่ที่สุดในแนวคราสเต็มดวง ที่นั่นเกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 2 นาที 0 วินาที ดวงอาทิตย์มีมุมเงย 14°

พอร์ตดักลาส เมืองท่องเที่ยวที่มีประชากรราว 1,000 คน อยู่ถัดขึ้นไปทางเหนือของเคร์นส์ราว 60 กิโลเมตร แต่อยู่ใกล้แนวกลางคราสมากกว่า เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 2 นาที 4 วินาที การท่องเที่ยวที่นั่นเตรียมจัดการแข่งขันวิ่งมาราธอนในเช้าวันสุริยุปราคา โดยให้แสงอาทิตย์ที่ฉายออกมาหลังสิ้นสุดสุริยุปราคาเต็มดวง เป็นสัญญาณปล่อยตัว ผู้จัดคาดว่าจะมีนักวิ่งจากทั่วโลกเข้าร่วมกว่า 2,000 คน

หลังจากผ่านออสเตรเลีย เส้นทางคราสเต็มดวงลงสู่ทะเลคอรัล ผ่านแนวปะการังเกรตแบเรียรีฟ แล้วผ่านไปทางเหนือของเกาะนอร์ฟอล์ก ซึ่งอยู่ระหว่างเกาะนิวแคลิโดเนียกับนิวซีแลนด์ เป็นระยะทางราว 160 กิโลเมตร เงามืดของดวงจันทร์ลากผ่านตอนใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิกโดยไม่ผ่านเกาะหรือหมู่ เกาะขนาดใหญ่ จากนั้นข้ามเส้นแบ่งวันตรงลองจิจูด 172.5° ตะวันตก ในเวลาประมาณ 04:46 น. เงาดวงจันทร์เข้าใกล้ศูนย์กลางโลกมากที่สุดในเวลา 05:11:47 น. เกิดสุริยุปราคาเต็มดวงนาน 4 นาที 2 วินาที ที่จุดนั้น เงามืดของดวงจันทร์กว้าง 179 กิโลเมตร

เงามืดเคลื่อนต่อไปจนกระทั่งเวลา 06:48 น. จึงหลุดออกจากผิวโลกในมหาสมุทร ตรงกลางระหว่างเกาะฮวนแฟร์นันเดซกับเกาะซานเฟลิกซ์ ห่างไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเมืองซานติอาโกในประเทศชิลีเกือบ 1,000 กิโลเมตร หลังจากนั้น เงามัวจะหลุดออกจากผิวโลกเวลา 07:46 น. สิ้นสุดสุริยุปราคาในวันนี้

บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วนซึ่งเงามัวของดวงจันทร์พาดผ่าน ครอบคลุมพื้นที่กว้างใหญ่ในแปซิฟิกใต้ ตอนล่างของทวีปอเมริกาใต้ และบางส่วนของแอนตาร์กติกา สุริยุปราคาดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ขึ้นเมื่อสังเกตจากด้านตะวันตกของ ออสเตรเลีย นิวกินี ปาปัวนิวกินี และดำเนินอยู่ขณะดวงอาทิตย์ตกเมื่อสังเกตจากชิลีและอาร์เจนตินา

สุริยุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดโหนดขึ้นในวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก สุริยุปราคาครั้งนี้เป็นสุริยุปราคาครั้งที่ 45 ใน 72 ครั้งของซารอสที่ 133 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม ค.ศ. 1219 สิ้นสุดในวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 2499 ซารอสนี้ประกอบด้วยสุริยุปราคาบางส่วน 12 ครั้ง วงแหวน 6 ครั้ง ผสม 1 ครั้ง เต็มดวง 46 ครั้ง และบางส่วน 7 ครั้ง ตามลำดับ ซารอสนี้เริ่มบริเวณใกล้ขั้วโลกเหนือ สิ้นสุดใกล้ขั้วโลกใต้ สุริยุปราคาวงแหวนครั้งที่นานที่สุดของชุดซารอสนี้คือ 1 นาที 14 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน ค.ศ. 1453 สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดคือ 6 นาที 50 วินาที เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 1850

สุริยุปราคาในซารอสที่ 133 ซึ่งเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ไทยมี 2 ครั้ง ครั้งแรกคือสุริยุปราคาเต็มดวงที่คณะบาทหลวงเยซูอิตชาวฝรั่งเศสตั้งกล้อง ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้ ทอดพระเนตรที่พระที่นั่งไกรศรสีหราช (พระที่นั่งเย็น) เมืองละโว้ จ.ลพบุรี เมื่อวันที่ 30 เมษายน พ.ศ. 2231 (เห็นเป็นสุริยุปราคาบางส่วน) ครั้งที่ 2 คือสุริยุปราคาเต็มดวงเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2411 ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงคำนวณและเสด็จฯ ไปทอดพระเนตรที่บ้านหว้ากอ จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมด้วยคณะสำรวจจากอังกฤษและฝรั่งเศส

4. จันทรุปราคาเงามัว 28 พฤศจิกายน 2555

อุปราคาครั้งสุดท้ายของปีเป็นจันทรุปราคาเงามัว เกิดขึ้นในคืนวันพุธที่ 28 พฤศจิกายน 2555 ตรงกับคืนวันลอยกระทง ดวงจันทร์ถูกเงามัวของโลกบังลึกที่สุดเวลา 21:33 น. พื้นที่บนโลกที่เห็นจันทรุปราคาครั้งนี้ ได้แก่ ส่วนใหญ่ของทวีปยุโรป ด้านตะวันออกของทวีปแอฟริกา เอเชีย ออสเตรเลีย ส่วนใหญ่ของมหาสมุทรแปซิฟิก และเกือบทั้งหมดของทวีปอเมริกาเหนือ ยกเว้นด้านตะวันออก

จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นชนิดเงามัว ซึ่งคนทั่วไปมักสังเกตไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับดวงจันทร์ อย่างไรก็ตาม หากสังเกตดี ๆ จะพบว่าผิวดวงจันทร์หมองคล้ำลงเล็กน้อย เนื่องจากดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามัวเกือบทั้งดวง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระหว่างเวลา 3 - 4 ทุ่ม ซึ่งขอบด้านทิศเหนือจะคล้ำกว่าด้านทิศใต้

ขั้นตอนการเกิดจันทรุปราคา 28 พฤศจิกายน 2555

  1. ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลก 19:14:57 น.
  2. กึ่งกลางของปรากฏการณ์ 21:32:59 น.
  3. ดวงจันทร์พ้นจากเงามัวของโลก 23:51:01 น.

จันทรุปราคาครั้งนี้เกิดขึ้นที่จุดโหนดลงในวงโคจรของดวงจันทร์รอบโลก เมื่อสังเกตจากประเทศไทยจะเห็นดวงจันทร์อยู่ในกลุ่มดาววัว ห่างดาวอัลเดบารันประมาณ 5° และมีดาวพฤหัสบดีอยู่ห่างที่ระยะใกล้เคียงกัน วัตถุ 3 ชิ้นนี้ทำมุมเกือบเป็นสามเหลี่ยมด้านเท่า จันทรุปราคาครั้งนี้เป็นครั้งที่ 11 ใน 71 ครั้ง ของซารอสที่ 145 ซึ่งดำเนินอยู่ระหว่าง ค.ศ. 1832 - 3094 ซารอสนี้ประกอบด้วยจันทรุปราคาเงามัว 18 ครั้ง บางส่วน 10 ครั้ง เต็มดวง 15 ครั้ง บางส่วน 20 ครั้ง และเงามัว 8 ครั้ง ตามลำดับ จันทรุปราคาเต็มดวงครั้งที่นานที่สุดของซารอสนี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคม ค.ศ. 2427 นาน 1 ชั่วโมง 44.4 นาที

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ 6 มิถุนายน 2555

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ วันที่ 8 มิถุนายน 2547 (ภาพ - Vincent Yu/AP)

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เป็นปรากฏการณ์ที่ดาวศุกร์เคลื่อนมาอยู่ในแนว ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์ คนบนโลกมีโอกาสเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นดวงกลมดำขนาดเล็กเคลื่อนผ่านดวงอาทิตย์ วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 ประเทศไทยสามารถสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ในช่วงเวลาตั้งแต่ดวง อาทิตย์ขึ้น จนกระทั่งสิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลาประมาณ 11:50 น. โดยดาวศุกร์เริ่มผ่านหน้าดวงอาทิตย์ตั้งแต่ประมาณ 20 นาที ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้นที่ประเทศไทย วันนั้นดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเล็กกว่าดวงอาทิตย์ประมาณ 33 เท่า

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์เกิดเป็นคู่ ภายในคู่ห่างกัน 8 ปี แต่ละคู่ห่างกัน 105 หรือ 120 ปี ระยะห่างระหว่างแต่ละครั้งจะมีรูปแบบที่แน่นอน คือ 8, 121.5, 8 และ 105.5 ปี และวนซ้ำกันเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ ครั้งล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2547 ซึ่งเห็นได้ในประเทศไทย หลังจากครั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าคนที่มีชีวิตอยู่บนโลกในปัจจุบันทั้งหมด จะไม่มีโอกาสได้เห็นดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์อีก เพราะดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์คู่ถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2660 (ค.ศ. 2117) และวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2668 (ค.ศ. 2125)

แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ทำให้การสังเกตดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์จากสถาน ที่ต่างกัน ให้เวลาสัมผัสที่ต่างกัน ยกตัวอย่าง ที่กรุงเทพฯ สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:49:51 น. แต่ที่โตเกียว สิ้นสุดปรากฏการณ์ในเวลา 11:47:27 น. ตามเวลาในเขตเวลาเดียวกัน (ถ้าแปลงเป็นเวลาท้องถิ่นของญี่ปุ่นต้องบวก 2 ชั่วโมง) เป็นต้น

พื้นที่ที่เห็นปรากฏการณ์ได้ตลอดตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดคือประเทศทาง ด้านตะวันออกของเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ด้านตะวันออกของจีน มองโกเลีย ด้านตะวันออกของรัสเซีย ด้านตะวันออกของออสเตรเลีย เกือบทั้งหมดของนิวซีแลนด์ ฮาวาย ด้านตะวันตกของแคนาดา และรัฐอะแลสกาของสหรัฐอเมริกา พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ขึ้น คือดาวศุกร์ได้เคลื่อนเข้ามาในดวงอาทิตย์แล้วก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น ได้แก่ เกือบทั้งหมดของยุโรป ตะวันออกกลาง ด้านตะวันออกของแอฟริกา ด้านตะวันตกของเอเชีย ด้านตะวันตกของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (รวมทั้งประเทศไทย) และด้านตะวันตกของออสเตรเลีย

พื้นที่ที่เห็นได้ขณะดวงอาทิตย์ตก คือดวงอาทิตย์ตกขณะที่ดาวศุกร์ยังอยู่ในดวงอาทิตย์ ได้แก่ ส่วนใหญ่ของอเมริกาเหนือ และด้านตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาใต้ ซึ่งพื้นที่นี้ยังเป็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น

ดาวศุกร์ผ่านหน้าดวงอาทิตย์ในปี 2555 ปรากฏการณ์เกิดขึ้นในเช้าวันที่ 6 มิถุนายน ตามเวลาประเทศไทย ส่วนทวีปอเมริกาเหนือและใต้จะเห็นได้ในเย็นวันที่ 5 มิถุนายน ตามเวลาท้องถิ่น ภาพนี้แสดงเวลาที่ดาวศุกร์สัมผัสขอบดวงอาทิตย์ ซึ่งแบ่งเป็น 4 สัมผัส ตามเวลาประเทศไทย โดยสมมุติว่าสังเกตการณ์จากศูนย์กลางโลก หรืออีกนัยหนึ่งคือสังเกตจากผิวโลกขณะดวงอาทิตย์อยู่ที่จุดเหนือศีรษะ แพรัลแลกซ์ของดาวศุกร์ ทำให้เวลาที่มองเห็นดาวศุกร์แตะขอบดวงอาทิตย์จากสถานที่ต่าง ๆ เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน สำหรับกรุงเทพฯ จะเห็นได้เฉพาะสัมผัสที่ 3 และ 4 เกิดขึ้นในเวลา 11:32:28 น. และ 11:49:51 น. ตามลำดับ

พ.ศ. 2556

  • จันทรุปราคาบางส่วน 26 เมษายน 2556 - ประเทศไทยเห็นได้ในเวลากลางดึก ขณะบังลึกที่สุดเวลา 03:06 น. ดวงจันทร์แหว่งเพียง 2%
  • สุริยุปราคาวงแหวน 10 พฤษภาคม 2556 - แนวคราสวงแหวนผ่านออสเตรเลีย ปาปัวนิวกินี หมู่เกาะโซโลมอน หมู่เกาะกิลเบิร์ตในคิริบาส และตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก ประเทศไทยไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้
  • จันทรุปราคาเงามัว 25 พฤษภาคม 2556 - ไม่เห็นในประเทศไทย
  • จันทรุปราคาเงามัว 19 ตุลาคม 2556 - ประเทศไทยเห็นได้ขณะดวงจันทร์ตก แต่ดวงจันทร์ลดความสว่างลงน้อยมาก ยากที่จะสังเกตเห็นการเปลี่ยนแปลง
  • สุริยุปราคาผสม 3 พฤศจิกายน 2556 - แนวคราสวงแหวนเริ่มต้นทางด้านตะวันตกของแอตแลนติกเหนือ จากนั้นแนวคราสเต็มดวงพาดผ่านมหาสมุทรแอตแลนติก แล้่วเข้าสู่ตอนกลางของทวีปแอฟริกา โดยผ่านกาบอง สาธารณรัฐคองโก สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ยูกันดา เคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ประเทศไทยไม่เห็นสุริยุปราคาในวันนี้

ที่มา http://thaiastro.nectec.or.th/skyevnt/eclipses/2012eclipses.html


วันครูแห่งชาติ

โพสต์โดย: prakrupit

ติดแท็กใน: ไม่ติดแท็ก 

prakrupit

วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความเห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคียาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภาสามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนดเป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้

  • กิจกรรมทางศาสนา
  • พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
  • กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยา บทสวดเคารพครู


อีโคไล E. coli(อี.โคไล)

โพสต์โดย: prakrupit

ติดแท็กใน: ไม่ติดแท็ก 

prakrupit

 

แบคทีเรียอีโคไล แพร่เข้าสู่ร่างกายคนได้อย่างไร?

          เชื้ออีโคไลจะเข้าสู่ร่างกายคนได้จากการรับประทานอาหาร หรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้อยู่ ซึ่งส่วนมากจะพบในอาหารที่ปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ 

เมื่อติดเชื้อ แบคทีเรียอีโคไล แล้ว จะมีอาการอย่างไร?

          เริ่มแรกผู้ป่วยจะมีอาการท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว อาจจมีเลือดปน มีไข้ อาเจียน ถ้า หากไม่หายภายใน 10 วัน ควรไปพบแพทย์เป็นการด่วน ไม่เช่นนั้นผู้ป่วยจะเกิดภาวะเม็ดเลือดแดงแตก และไตวาย อาจจะทำให้เสียชีวิตในที่สุด นอกจากนี้ผู้ป่วยไม่ควรรับประทานยาระงับการถ่ายอุจจาระ เพราะยาประเภทนี้จะทำให้อาการป่วยรุนแรงขึ้นกว่าเดิม

ผักผลไม้

การป้องกันและรักษา

          ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อแบคทีเรีย อีโคไล แต่ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดท้องได้ในเบื้องต้น และควรหลีกเลี่ยงยาแก้ปวดในกลุ่มสเตอรอยด์ เช่น ยาแอสไพริน เพราะจะยาตัวนี้จะไปทำลายไตของผู้ป่วย

สำหรับวิธีป้องกันเชื้อ แบคทีเรียอีโคไล ในเบื้องต้น คือ 

          1. รับประทานอาหารที่ปรุงสุก และถูกสุขลักษณะ
          2. ควรเก็บอาหารประเภทเนื้อสัตว์ไว้ในอุณหภูมิต่ำ
          3. สำหรับผักสด ควรล้างน้ำให้สะอาด โดยการปล่อยน้ำไหลผ่านผักประมาณ 2 นาที
          4. ในการประกอบอาหารควรปรุงให้สุกในระดับอุณหภูมิ 71  องศาเซลเซียสขึ้นไป
          5. ยึดหลัก กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมืออยู่เสมอ
          6. เมื่อมีอาการท้องเสียขั้นรุนแรง ควรไปพบแพทย์โดยด่วน และอย่ารับประทานยาระงับถ่ายอุจจาระ

อีโคไล (E. coli) หรือมีชื่อเต็มๆ ว่า  Escherichia coli (เอสเชอริเชีย โคไล)

เป็นแบคทีเรียในกลุ่มโคลิฟอร์ม เป็นตัวชี้การปนเปื้อนของอุจจาระในน้ำ มีอยู่ตามธรรมชาติในลำไส้ใหญ่ของสัตว์และมนุษย์

แบคทีเรีย ชนิดนี้ทำให้เกิดอาการท้องเสียบ่อยที่สุด ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ทำให้ถ่ายอุจจาระเหลว หรือเป็นน้ำ แต่อาการมักไม่รุนแรง เพราะทั้งเด็ก และผู้ใหญ่มักมีภูมิต้านทานอยู่บ้างแล้ว เนื่องจาก ได้รับเชื้อนี้เข้าไปทีละน้อยอยู่เรื่อยๆ เชื้อนี้มักปนเปื้อนมากับอาหาร น้ำ หรือ มือของผู้ประกอบอาหาร ปกติเชื้อเหล่านี้อาจพบในอุจจาระได้อยู่แล้วแม้จะไม่มีอาการอะไร

เชื้ออีโคไล แพร่สู่คนได้อย่างไร

เชื่อแบคทีเรียอีโคไลจะ แพร่สู่คนได้จากการรับประทานอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรียชนิด นี้ปนเปื้อนอยู่ ซึ่งเชื้อชนิดนี้มักจะปนเปื้อนอยู่ในอาหารที่ได้รับการปรุงไม่ถูกสุขลักษณะ

อาการของผู้ได้รับเชื้ออีโคไล
จะพบอาการแต่เริ่มท้องร่วงเล็กน้อย จนกระทั่งเกิดภาวะลำไส้อักเสบและมีอาการเลือดออกไม่หยุด เกิดอาการปวดท้องอย่างรุนแรงและพบเลือดปนกับอุจจาระ

ระยะฟักตัวของเชื้ออีโคไล

ระยะฟักตัวของเชื้ออีโคไลอยู่ ที่ประมาณ 3-8 วัน และจะปรากฏอาการในช่วง 3-4 วันหลังการได้รับเชื้อ แม้ว่าผู้ได้รับเชื้อจะสามารถนำเชื้อชนิดนี้ออกจากร่างกายได้ภายใน 1 สัปดาห์ แต่เชื้อส่วนที่หลงเหลือเพียงเล็กน้อยยังสามารถทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆ ได้ เช่นเกิดภาวะไตเสื่อม ซึ่งเกิดจากเซลล์เม็ดเลือดแดงถูกทำลาย

ผู้เสี่ยงได้รับเชื้ออีโคไล

เด็ก ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ จะเป็นผู้มีความเสี่ยงที่จะได้รับเชื้ออีโคไลมากที่สุด เนื่องจากร่างกายของคนกลุ่มนี้จะมีความสามารถในการต้านทานเชื้อได้น้อยกว่า คนทั่วไป

การป้องกันและรักษาเมื่อได้รับเชื้ออีโคไล

ปัจจุบัน ยังไม่มีวิธีการรักษาอาการที่เกิดจากการได้รับเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้โดยตรง ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวดท้องได้ในเบื้องต้น แต่ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวดกลุ่มสเตอรอยด์ เช่นยาแอสไพริน เพราะยากลุ่มนี้จะมีผลทำลายไตของผู้รับประทาน นอกจากนี้เพื่อเป็นการป้องกันการได้รับเชื้อ ควรหลีกเลี่ยงการดื่มชา กาแฟ เครื่องดื่มบรรจุกระป๋องและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์


@ สงวนลิขสิทธิ์ 2554 ทั้งหมด ::  โรงเรียนพระครูพิทยาคม  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์

ที่ตั้ง :: กิโลเมตรที่ 13  ถนน บุรีรัมย์-พุทไธสง  อำเภอเมือง  จังหวัดบุรีรัมย์  31000 โทรศัพท์ 044666122 / โทรสาร  044666123
 GPS  ละติจูด/ลองจิจูด 15.099714966081287 N  / 103.04489135742188 E

E-mail :: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน :::: Webmaster::::  artid.pas@prakru.ac.th   ::: อีเมลนี้จะถูกป้องกันจากสแปมบอท แต่คุณต้องเปิดการใช้งานจาวาสคริปก่อน

 

http://www.prakru.ac.th/index.php?option=com_user&view=login&Itemid=24